การติดต่อราชการที่สถานีตำรวจ

การติดต่อราชการที่สถานีตำรวจภูธรอากาศอำนวย

การติดต่อราชการที่สถานีตำรวจภูธรอากาศอำนวย
  1.การแจ้งเหตุ หรือการแจ้งข่าวอาชญากรรม
  2.การแจ้งความต่างๆ
  3.การชำระค่าปรับ
  4.กิจธุระที่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจ
การแจ้งเหตุหรือการแจ้งข่าวอาชญากรรม
ประชาชนสามารถให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ด้วยการช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องพบเห็นเหตุร้าย
หรือพฤติกรรมมีพิรุธน่าสงสัย เข้าข่ายอาชญากรรมประเภทต่างๆเช่น ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ฯลฯตลอดจน
อุบัติเหตุร้ายแรงที่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักสำคัญในการคลายทุกข์ร้อนของประชาชน
วิธีการแจ้งข่าวอาชญากรรม สามารถกระทำได้ ดังนี้
1. พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองในท้องที่ที่เกิดเหตุ
2. แจ้งเหตุทางโทรศัพท์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
– โทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉินโดยตรงของทางราชการ เช่น เหตุด่วนเหตุร้าย โทรแจ้ง 191
– โทรศัพท์แจ้งเหตุในรายการวิทยุต่าง ๆ ที่สามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันท่วงที
3. แจ้งเหตุทางจดหมายไปยังสถานีตำรวจในท้องที่
ข้อควรทราบในการแจ้งข่าวอาชญากรรมทางโทรศัพท์ เมื่อพบเห็นเหตุร้าย อย่ามัวแต่ตกใจควรระงับ
สติอารมณ์แล้วแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทันที พยายามจดจำข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์
ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการมากที่สุด คือ
1. เหตุร้ายนั้นเป็นเหตุอะไร เช่น ฆ่าคนตาย รถชนกัน ปล้นทรัพย์ ฯลฯ
2. เหตุนั้นเกิดที่ไหน ระบุสถานที่ให้ชัดเจนถูกต้อง
3. คนร้ายมีลักษณะอย่างไร บอกรูปพรรณสัณฐานของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ถ้าเป็นยานพาหนะ 
ก็ควรสังเกตว่ายานพาหนะนั้นมีป้ายทะเบียนหรือไม่ ถ้ามีเป็นหมายเลขอะไร เหล่านี้เป็นต้น
การติดต่อกับสถานีตำรวจทางโทรศัพท์ เป็นวิธีการที่น่าเชื่อว่าประชาชนจะสะดวก รวดเร็วและ
เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเล็งเห็นและมุ่งที่จะปรับปรุงการให้บริการรับแจ้งเหตุ
ต่าง ๆ ทางโทรศัพท์นี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป เท่าที่ผ่านๆ มาการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนใน
สังคมกับสถานีตำรวจทางโทรศัพท์นี้ส่วนใหญ่ก็จะได้รับการบริการเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่สำนักงานตำรวจ
แห่งชาติก็ตระหนักถึงความรู้สึกของผู้คนในสังคมที่ได้ใช้วิธีการติดต่อกับสถานีตำรวจทางโทรศัพท์
และพบว่า บางครั้งประชาชนที่ใช้วิธีการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ก็ไม่ได้รับบริการอย่างเหมาะสม 
หรือบางครั้งการบริการล่าช้ามากสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมุ่งที่จะที่จะหาทางแก้ไขปัญหาแม้ว่า
จะเป็นส่วนน้อยที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทางโทรศัพท์เพื่อมุ่งที่จะทำให้วิธีการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์นี้มี
ประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นวิธีที่ประชาชนได้เรียกใช้บริการของสถานีตำรวจได้ อย่างมั่นใจ สะดวก
รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด   

แนวทางการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ใหม่นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติการแจ้งเหตุของประชาชนในแต่ละครั้ง 
จะได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมในเวลาอันควรจากตำรวจผู้ให้บริการและเพื่อให้ประชาชนได้มีหลักประกัน
และเกิดความมั่นใจว่า คำขอรับบริการที่แจ้งเหตุไปถึงตำรวจแล้ว จะได้รับการบริการที่เหมาะสม  
แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ขอความช่วยเหลือสอบถามข้อมูล สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ1599
เป็นหมายเลขที่ให้ประชาชนได้ใช้เป็นหลักประกัน เพื่อความมั่นใจว่า หากไม่ได้รับความสะดวกหรือการ
บริการที่เหมาะสมจากผู้ปฏิบัติงานตำรวจในพื้นที่แล้ว ก็จะสามารถแจ้งความไม่สะดวก หรือการบริการที่ไม่
เหมาะสมให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทราบเพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้เข้าไปตรวจสอบ 
และพิจารณาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาการบริการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป ในเบื้องต้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอความกรุณาผู้ที่ต้องการจะติดต่อขอรับบริการเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อตรงไปยัง
สถานีตำรวจที่รับผิดชอบเขตพื้นที่ก่อน หากไม่ได้รับความสะดวก หรือไม่ได้รับการดำเนินการในเวลาอันควร 
ขอความกรุณาติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ระดับถัดไปได้ทีละระดับตั้งแต่หัวหน้าสถานีตำรวจผู้บังคับการ
เขตหรือจังหวัด และสุดท้ายหากยังไม่ได้รับการบริการที่เหมาะสม ขอได้โปรดแจ้งไปยังศูนย์ปฏิบัติการ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการปฏิบัติงาน
ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเป็นระบบการตรวจสอบให้บริการประชาชนของสถานีตำรวจอีกทางหนึ่งด้วย

การแจ้งข่าวอาชญากรรม สามารถแบ่งเป็น
1. การแจ้งข่าวก่อนเกิดเหตุ ช่วยกันจับตาดูแลสอดส่องพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มี
พฤติกรรมน่าสงสัย ดังนี้
– ผู้มักมีพฤติกรรมการลักเล็กขโมยน้อย หรือลักโค กระบือ
– อันธพาล นักเลง
– ผู้ติดยาเสพติดผิดกฎหมาย เช่น ฝิ่น กัญชา เฮโรอีน สารระเหย
– มือปืนรับจ้าง
– บุคคลแปลกหน้าที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย
– แหล่งซ่องสุมหรือหลบซ่อนตัวของคนร้าย หรือรับซื้อของโจร
– แหล่งค้ายาเสพติด
– แหล่งล่อลวงหญิงค้าประเวณี หรือทารุณกรรม
– แหล่งกักขัง ใช้แรงงานเด็ก หรือใช้แรงงานคนต่างด้าวผิดกฎหมาย
2. การแจ้งข่าวขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ
– แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที หากได้พบเห็นบุคคลเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด จดจำลักษณะ 
ตำหนิรูปพรรณ และยานพาหนะของผู้นั้น
– ให้ข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่อย่างละเอียด ไม่บิดเบือน เพื่อผลการดำเนินงานสอบสวนติดตามผล
จะได้ถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว
– ถ้าเหตุร้ายมีผลต่อสาธารณชน เช่น อัคคีภัย ควรแจ้งตำรวจดับเพลิงหรือกรณีที่พบอุบัติเหตุรถชนกัน 
มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วนแล้วช่วยดูแลทรัพย์สินของผู้ประสบเหตุ

การสังเกตจดจำตำหนิลักษณะคนร้าย จะมีประโยชน์ในการสืบสวนปราบปรามผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น 
ประชาชนควรศึกษาหลักการสังเกตจดจำรูปพรรณ ดังต่อไปนี้
1. จดจำลักษณะใหญ่ เห็นง่าย
2. จดจำลักษณะเด่น ตำหนิ
3. เลือกจดจำลักษณะเพียงบางอย่างที่สามรถจำได้อย่างแม่นยำ
4. เมื่อคนร้ายหลบหนีไป รีบจดบันทึกทันทีตามที่เห็นจริง
5. มอบรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
———————————————————————-




การแจ้งความต่าง ๆ 
เมื่อประชาชนประสบเหตุเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามหน่วยงานสำคัญที่จะเป็นที่พึ่งได้ในยามเกิด
ปัญหาคือ สถานีตำรวจตามกฎหมายได้ให้สิทธิแก่ประชาชนในการร้องทุกข์หรือแจ้งความเรื่องต่างๆ 
ได้อย่างเต็มที่รวมไปถึงกำหนดหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องเอาใจใส่ต่อคำร้องทุกข์ของประชาชน 
จะละเลยไม่ได้สงสัยหรือเปล่าล่ะว่า แจ้งความ กับ แจ้งเหตุ ต่างกันอย่างไร
การแจ้งเหตุ คือ เมื่อเรามีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆก็ควรช่วยเหลือสังคมด้วยแจ้งเหตุการณ์ที่เห็นแก่
เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที
การแจ้งความ คือ เมื่อเรามีเรื่องทุกข์ร้อน และนำเรื่องนั้นไปแจ้งหรือร้องทุกข์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
แล้ว มันจะกลายเป็นคดีความระหว่างเราซึ่งเป็นผู้เสียหายกับคู่กรณี ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
จะต้องเรียนรู้ถึงวิธีปฏิบัติรวมทั้งการเตรียมเอกสารในเรื่องที่จะแจ้งความนั้นให้พร้อม เพื่อจะทำให้
การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
1. แจ้งความเอกสารสำคัญหาย
เช่น ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ จักรยานยนต์ โฉนดที่ดิน ใบสำคัญต่างๆ ฯลฯ มีขั้นตอนดังนี้คือ 
ยื่นคำร้องแจ้งว่าเอกสารดังกล่าวหายต่อสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ จากนั้นเจ้าพนักงานจะตรวจสอบ
ว่าจริงหรือไม่ แล้วลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งออกหลักฐานการแจ้งความเอกสาร
หายเพื่อให้ท่านนำไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสำหรับดำเนินการต่อไป
2. แจ้งความคนหาย
หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ
– บัตรประจำตัวผู้หาย หรือสำเนาบัตรที่ถ่ายเก็บไว้ (ถ้ามี)
– สำเนาทะเบียนบ้านผู้หาย
– ภาพถ่ายคนหาย (เป็นภาพถ่ายปัจจุบัน)
– ใบสำคัญทางราชการ เช่น ใบเกิด ใบสำคัญทหาร (ใบกองเกิน ใบกองหนุน)
3. แจ้งความรถหรือเรือหาย
หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ
– ใบทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือพาหนะอื่นๆ ที่หาย
– ใบรับเงินหรือสัญญาซื้อขายเท่าที่มี
– ถ้าเป็นตัวแทนห้างร้าน บริษัท ผู้ไปแจ้งความควรมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของหรือผู้จัดการของ
ห้างร้านบริษัทนั้นๆ ไปรวมทั้งหนังสือรับรองบริษัทด้วย
– หนังสือคู่มือประจำรถที่ทางบริษัทห้างร้านออกให้ ถ้าไม่มีก็ให้จำสีรถ แบบ ยี่ห้อ 
หมายเลขประจำเครื่องและตัวรถไปด้วย (ถ้ามี)
– หากมีภาพถ่ายรถหรือเรือที่หายให้นำไปด้วย
4. แจ้งความอาวุธปืนหาย
ควรเตรียมหลักฐานดังนี้
– ทะเบียนใบอนุญาตอาวุธปืน
– ใบเสร็จ รับเงินที่บริษัทห้างร้านขายปืนออกให้ ( ถ้ามี )
– ภาพถ่ายปืนที่หาย
5. แจ้งความทรัพย์สินหาย
ควรเตรียมหลักฐานดังนี้
– ใบเสร็จรับเงินซื้อขาย หรือหลักฐานการแสดงการซื้อขายทรัพย์สินนั้น
– รูปพรรณทรัพย์สิน ๆ เช่น หมายเลขเครื่อง ฯลฯ ( ถ้ามี )
– ตำหนิหรือลักษณะพิเศษต่าง ๆ
– ภาพถ่ายของทรัพย์สินที่หาย ( ถ้ามี )
ในกรณีที่คนร้ายขโมยทรัพย์สินในบ้านหรือสำนักงาน ให้รักษาร่องรอยหลักฐานในที่เกิดเหตุไว้ 
อย่าให้ใครเข้าไปเคลื่อนย้ายหรือแตะต้องจนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาดำเนินการ
6. แจ้งความพรากผู้เยาว์
ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ ข้อหาพรากผู้เยาว์เป็นอย่างไร 
คงจำกันได้ดีถึงกรณีพิพาทอื้อฉาวบนหน้าหนังสือพิมพ์ระหว่างนักร้องหญิงวัยรุ่นกับแม่ของเธอ 
เรื่องมันก็มีอยู่ว่าเจ้าสาวเล่นประกาศปาว ๆ จะอยู่กินกับแฟนหนุ่ม แถมท้องได้ 4 เดือนเสียด้วย
ทั้ง ๆ ที่ อายุยังไม่ถึง20 ปี เล่นเอาคุณแม่ต้องวิ่งโร่ไปแจ้งความกับตำรวจในข้อหาพรากผู้เยาว์น่ะสิ 
เห็นชัดแล้วใช่มั้ยว่าการพรากผู้เยาว์เป็นอย่างไร ใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้เวลาจะขึ้นโรงพักไป
แจ้งตำรวจก็อย่าลืมเตรียมเอกสาร ดังนี้
– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เยาว์
– ใบเกิดของผู้เยาว์(สูติบัตร)
– รูปถ่ายของผู้เยาว์
– ใบสำคัญอื่นๆเกี่ยวกับผู้เยาว์ (ถ้ามี)
7. แจ้งความถูกข่มขืนกระทำชำเรา
ควรเตรียมหลักฐานดังนี้
– เสื้อผ้าของผู้ถูกข่มขืน ซึ่งมีรอยเปื้อนอันเกิดจากการข่มขืน และสิงของต่างๆ 
ของผู้ต้องหาที่ตกอยู่ในสถานทีเกิดเหตุ
– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เสียหาย
– รูปถ่ายหรือที่อยู่ของผู้ต้องสงสัยตลอดจนหลักฐานอื่นๆ(ถ้ามี)
8. แจ้งความถูกทำร้ายร่างกายและเหตุฆ่าคนตาย
ดำเนินการดังนี้
– รักษาสถานที่เกิดเหตุไว้อย่าให้ใครเข้าไปยุ่มย่ามหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆในที่เกิดเหตุจนกว่า
เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการ
– ดูแลรักษาอาวุธของคนร้ายหรือพยานหลักฐานต่างๆเพื่อส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
– บอกรายละเอียดต่างๆเท่าที่สามารถบอกได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทราบ
9. แจ้งความถูกปลอมแปลงเอกสาร
นำหลักฐานต่างๆไปดังนี้
– ใบสำคัญตัวจริง เช่น โฉลด แบบ น.ส.3 หนังสือสัญญา ใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ
– หนังสือปลอมแปลง
– ตัวอย่างตราที่ใช้ประทับหรือลายเซ็นในหนังสือ
10. แจ้งความถูกฉ้อโกงทรัพย์
เตรียมหลักฐานดังนี้
– หนังสือหรือหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการถูกฉ้อโกง
– หลักฐานแสดงการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์
– หนังสือหรือหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์
11. แจ้งความถูกยักยอกทรัพย์
ควรเตรียมหลักฐานดังนี้
– หนังสือสำคัญที่เป็นหลักฐานว่าได้มีการมอบหมายทรัพย์ให้ไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
– ใบสำคัญแสดงการเป็นเจ้าของ
– สำเนาหรือคำสั่งศาล หรือพินัยกรรมในกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาล
หรือพินัยกรรม
12. แจ้งความถูกยักยอกทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการเช่าซื้อ
ควรเตรียมหลักฐาน ดังนี้
– สัญญาใบเช่าซื้อหรือสำเนา
– ใบสำคัญติดต่อซื้อ ขาย เช่า ยืม หรือฝาก
– ใบสำคัญที่บริษัทห้างร้านออกให้โดยระบุรูปพรรณยี่ห้อ สี ขนาด น้ำหนักและเลขหมายประจำตัว
13. แจ้งความกรณีทำให้เสียทรัพย์
ควรเตรียมเอกสาร ดังนี้
– หลักฐานต่างๆ แสดงการเป็นเจ้าของหรือครอบครองทรัพย์นั้น
– หลักฐานหรือสิ่งของที่เสียหายเท่าที่มีหรือเท่าที่นำไปได้
– หากเป็นของใหญ่โต หรือทรัพย์ที่ไม่สามารถพกพาติดตัวได้ให้เก็บรักษาไว้อย่าให้เกิดเสียหาย
มากขึ้นกว่าเดิม หรือจัดให้คนเฝ้ารักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
ในการดำเนินคดีต่อไป
14. แจ้งความจ่ายเช็คโดยไม่มีเงิน
ควรเตรียมหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนี้
– เช็คที่ยึดไว้
– หนังสือที่ธนาคารแจ้งขัดข้องหรือปฏิเสธการจ่ายเงิน (ใบคืนเช็ค)
– หลักฐานหรือเอกสารซึ่งเป็นมูลหนี้แห่งที่มาของการจ่ายเช็ค เช่น
1. บิลส่งสินค้ากรณีที่มีการซื้อขายกัน, หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน
2. สัญญาซื้อขาย หรือเอกสารอื่นใดที่เป็นหลักฐานแห่งมูลหนี้ของการจ่ายเช็ค
– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้ง
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
กรณีเป็นเช็คของบริษัท หรือมีการมอบอำนาจ จะต้องมีเอกสารเพิ่มเติมคือ
– หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ถูกต้อง
– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
– เอกสารเกี่ยวกับตัวผู้จ่ายเช็ค (ถ้ามี)
——————————————————————

การชำระค่าปรับ
เมื่อเราทำผิด และได้รับใบสั่งสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ สามารถเลือกปฏิบัติในการ
ชำระค่าปรับตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร ณ สถานที่และภายในวันเวลาที่ระบุ
ไว้ในสั่งได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
ช่องทางการชำระเงินค่าปรับ

ชำระค่าปรับทางช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT ของธนาคารกรุงไทย
ชำระที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน
ชำระผ่านสาขาของธนาคารกรุงไทย
ชำระผ่านตู้ ATM ADM ธนาคารกรุงไทย
ชำระผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา
ชำระผ่านจุดรับชำระเงิน เช่น ตู้บุญเติม หรือ CenPay เป็นต้น
ขั้นตอนการชำระค่าปรับทางไปรษณีย์
1. ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถต้องถ่ายเอกสารใบสั่งทั้ง 2 หน้า โดยกรอกข้อความในสำเนาใบสั่งในส่วนของ
“บันทึกของผู้ต้องหา”ให้ครบถ้วนพร้อมลงลายมือชื่อ (ใบสั่งตัวจริงเก็บไว้เป็นหลักฐาน.)
2. ไปที่ทำการไปรษณีย์แห่งใดก็ได้พร้อมแจ้งความจำนงว่าจะชำระค่าปรับทางไปรษณีย์
3. เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะมอบใบฝากธนาณัติในประเทศและซองจดหมายจำนวน 2 ซอง
เพื่อดำเนินการ ดังนี้
– กระกรายละเอียดในใบฝากส่งไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศสั่งจ่าย“ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” 
ณ ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางตามที่ระบุไว้ในใบสั่ง
– จ่าหน้าซอง โดยซองแรกให้จ่าหน้าถึงหัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานตำรวจที่ออก
ใบสั่งและซองที่สองให้จ่าตามชื่อที่อยู่ของผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ได้กรอกไว้ในสำเนาใบสั่งส่วนของ
“บันทึกผู้ต้องหา” ตามข้อ 1 เพื่อจะส่งใบเสร็จรับเงินและใบอนุญาตขับขี่(หากถูกยึด)คืนให้
– มอบเอกสารตามข้างต้นให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ พร้อมชำระค่าปรับจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่ง
และเงินค่าใช้บริการตามที่ที่ทำการไปรษณีย์เรียกเก็บ
– เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะตรวจความถูกต้องและดำเนินการให้ต่อไป

หมายเหตุ
1. พ.ร.บ.จราจรบนบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562
2. ข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่องชำระค่าปรับทางไปรษณีย์และข้อกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่
เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2539 
แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่องการชำระค่าปรับทางไปรษณีย์ฯ ( ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2540
3. พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย 2565
——————————————————————————————-




กิจธุระที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
1. การขออนุญาตแสดงมหรสพชั่วคราว
– ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของสถานที่
– ต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วย ( ถ้ามี )
– เลิกแสดงมหรสพเวลา 24.00 น.
สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องยื่นคำร้องต่อผู้กำกับหรือรองผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่เป็นผู้
พิจารณาอนุญาตส่วนต่างจังหวัด จะต้องย่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ และเมื่อนายอำเภออนุญาต
แล้วจะต้องแจ้งให้ตำรวจท้องที่ทราบ

2. การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
– ในกรุงเทพมหานคร ต้องยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการเขต
– ในต่างจังหวัดต้องยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ แล้วนำคำร้องมายื่นต่อผู้กำกับหรือ
รองผู้กำกับท้องที่เพื่อลงความเห็นแล้วส่งกลับไปยังเขตหรืออำเภอเพื่อพิจารณาอนุญาตต่อไป

3. การขออนุญาตจุดดอกไม้เพลิง
– ในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องยื่นคำร้องที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเสนอเรื่องให้
้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้อนุญาต
– ในต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่

4. การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน
สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ ดังนี้
1. กรุงเทพ : ยื่นต่อผู้บังคับการกองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ลาดพร้าว )
2. ต่างจังหวัด : ยื่นต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ
หลักฐานสำหรับการประกอบพิจารณา ที่ต้องนำไปมีดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวพร้อมสำเนา
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. หลักทรัพย์ หลักฐานการประกอบอาชีพและรายได้
4. หนังสือรับรองความเหมาะสม เหตุผล ความจำเป็น นิสัยใจคอ ดังนี้
– ถ้าเป็นราษฎรทั่วไป ต้องนำพยานบุคคลที่เชื่อถือได้ไปให้คำรับรองเกี่ยวกับความประพฤติ
และหลักฐานของผู้ขออนุญาตด้วย
– ถ้าเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ต้องให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นหัวหน้ากองหรือ
เทียบเท่าหรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้บังคับกองพันทหาร รับรองความประพฤติ
และตำแหน่งหน้าที่การงาน
– ถ้าเคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ให้นำใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) 
ไปแสดงด้วย

5. การขออนุญาตพกพาอาวุธปืนติดตัว
สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ ดังนี้
1. ยื่นต่อผู้บังคับการกองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ลาดพร้าว) สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนา
อยู่ในกรุงเทพฯ
2. ยื่นต่อนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอ สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด

คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตพกพาอาวุธปืนติดตัว
1. เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนอยู่แล้ว
2. เป็นบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้
– เจ้าพนักงานซึ่งทำหน้าที่ควบคุมทรัพย์สินของรัฐบาล
– ข้าราชการ พนักงาน หรือพนักงานองค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ในการปราบปราม 
หรือการปฏิบัติงานที่เป็นการฝ่าอันตรายหรือเขตทุรกันดาร
– บุคคลซึ่งได้ทำประโยชน์อย่างมากให้แก่ทางราชการในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย
– บุคคลที่มีความจำเป็นต้องมีอาวุธปืนติดตัว เพื่อป้องกันอันตรายจากการประทุษร้าย
– บุคคลที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นสมควรอนุญาต
หลักฐานการขออนุญาต
1. สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการเจ้าพนักงานหรือพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจ
หรือบัตรประจำตัวประชาชน
2. สำเนาใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4)
3. สำเนาทะเบียนบ้าน โดยที่อยู่ของผู้ขออนุญาตที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้านจะต้องตรงกับที่อยู่ใน
แบบ ป.4
4. ภาพถ่ายของผู้ขออนุญาต ขนาด 3 นิ้ว จำนวน 2 รูป โดยถ่ายหน้าต่างแต่งเครื่องแบบ
5. กรณีผู้ขอเป็นข้าราชการ เจ้าพนักงานหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีหนังสือรับรองจาก
ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดว่าเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยมีเหตุผลและความจำเป็นสมควรได้
รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนติดตัวได้
6. กรณีที่ผู้ขอทำงานอยู่ในธุรกิจเอกชนจะต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าของหนังสือผู้จัดการธุรกิจ
นั้นๆว่าผู้ขอเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย มีเหตุผลและความจำเป็นสมควรได้รับอนุญาตให้
พกพาอาวุธปืนติดตัวได้

6. การขอรับโอนมรดกอาวุธปืน ปฏิบัติเช่นเดียวกับการขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน 
หากต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
1. ใบมรณะบัตรของผู้ตาย
2. หนังสือพินัยกรรมของผู้ตาย หรือคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก (ถ้ามี)
3. ต้องแจ้งขอรับการโอนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับมรดก

7. การขออนุญาตเล่นการพนันประเภทต่างๆ ควรนำหลักฐานเอกสารดังต่อไปนี้แสดงต่อเจ้าหน้าที่
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ทะเบียนบ้าน ฉบับเจ้าบ้าน
3. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของ
ผู้รับมอบอำนาจ ในกรณีที่ผู้ขอมิได้ยื่นคำขอใบอนุญาตด้วยตนเอง
4. โครงการหรืองานที่จะจัดให้มีการเล่นการพนัน (ถ้ามี)
สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องยื่นคำขออนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันพร้อม
เอกสารดังกล่าวต่อนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรประจำท้องที่ซึ่งดำรงตำแหน่ง
สารวัตรขึ้นไป ส่วนในเขตต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นต่อนายอำเภอ
ท้องที่หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ

8. การขออนุญาตเยี่ยมผู้ต้องหาบนสถานีตำรวจ
– พบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาบนสถานีตำรวจ
– แจ้งชื่อผู้ต้องหาที่ต้องการเยี่ยม
– หลังได้รับอนุญาต ให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาได้ตามระเบียบที่กำหนด คือ
เวลา 08.00 – 09.00 น.
เวลา 12.00 – 13.00 น.
เวลา 16.00 – 17.00 น.
– อาหารของเยี่ยมของฝากผู้ต้องหา ต้องได้รับการตรวจจากเจ้าหน้าที่ก่อนเสมอ
………………………………………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *